มารู้จักแป้นพิมพ์ไทยเกษมณี & ไทยปัตตะโชติ
ทำไมต้อง "ฟ-ห-ก-ด" ที่มาของตำแหน่งแป้นพิมพ์คีย์บอร์ด
แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี (Thai Kedmanee) เป็นแป้นพิมพ์ภาษาไทยที่จัดวางตำแหน่งปุ่มกดแบบมาตรฐาน ซึ่งถูกคิดค้นและออกแบบตำแหน่งการจัดวางโดย นายสุวรรณประเสริฐ เกษมณี ผู้เป็นพนักงานห้างขายเครื่องพิมพ์ดีด ส่วน แป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติ (Thai Pattachote) เป็นแป้นพิมพ์ภาษาไทยที่จัดวางตำแหน่งปุ่มกดต่างจากรูปแบบไทยเกษมณีที่เป็นมาตรฐานและเป็นที่นิยมน้อยกว่าแป้นพิมพ์ไทยเกษมณี แป้นพิมพ์ชนิดนี้ตั้งชื่อตามนามสกุลของ นายสฤษดิ์ ปัตตะโชติ ผู้ออกแบบและคิดค้นเพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถพิมพ์ได้เร็วขึ้น
บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับแป้นพิมพ์ภาษาไทยทั้งสองแบบ พร้อมทั้งตอบข้อสงสัยที่คุณมักจะพบเจอ เช่น
- แป้นพิมพ์ไทยเกษมณีคืออะไร ?
- แป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติคืออะไร ?
- Thai Kedmanee vs Thai Pattachote ต่างกันอย่างไร ?
- ทำไมไทยเกษมณีถึงได้รับความนิยมมากกว่า ?
และนอกจากนี้ในท้ายบทความเรายังมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบของแป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษไว้อีกด้วย
แป้นพิมพ์ภาษาไทยแบบมาตรฐานที่คุณใช้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแป้นพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน ล้วนพัฒนามาจาก แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี ไม่ใช่ แป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติ แต่ก่อนที่จะไปรู้จักกับ แป้นพิมพ์เกษมณี และ แป้นพิมพ์ปัตตะโชติ แบบเต็ม ๆ เราไปดูความเป็นมาของแป้นพิมพ์ภาษาไทยกันก่อนดีกว่า
ความเป็นมาของแป้นพิมพ์ภาษาไทย
กว่าจะมาเป็นแป้นพิมพ์ภาษาไทยที่ปรากฏบนอุปกรณ์สมัยใหม่หลากหลายชนิด แป้นพิมพ์แบบที่คุณกำลังใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ล้วนพัฒนามาจากแป้นพิมพ์ภาษาไทยบนเครื่องพิมพ์ดีด
ในปีพ.ศ. 2434 ช่วงเวลาไม่นานหลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษขึ้น Edwin Hunter McFarland ผู้เป็นเลขานุการส่วนพระองค์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้มีแนวคิดที่จะดัดแปลงเครื่องพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษให้กลายเป็นเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย แต่เนื่องจากภาษาไทยมีอักขระมากกว่าภาษาอังกฤษที่มีเพียงตัวอักษร A ถึง Z เพียง 26 ตัว จึงได้เลือกใช้ยี่ห้อ Smith Premier ซึ่งเพิ่งประดิษฐ์สำเร็จในปี พ.ศ. 2433 ที่น่าจะมีแป้นพิมพ์อักขระใหญ่มากพอที่จะบรรจุ พยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ของภาษาไทย
ซ้าย: เครื่องพิมพ์ดีด Smith Premier typewriter No. 4 แบบแป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษ
ขวา: เครื่องพิมพ์ดีด Smith Premier typewriter No. 4 แบบแป้นพิมพ์ภาษาไทย
หลังจากทดลองวางอักขระภาษาไทยทั้งหมดลงบนแป้นพิมพ์ Edwin ก็ยังพบปัญหาคือ อักขระภาษาไทยเกินจำนวนแป้นพิมพ์อยู่ 2 ตัว Edwin จึงตัดสินใจตัดพยัญชนะ ฃ (ฃ.ฃวด) และ ฅ (ฅ.ฅน) เพราะเป็นพยัญชนะไทยที่ไม่ค่อยถูกใช้ และสามารถทดแทนได้ด้วยพยัญชนะ ข (ข.ไข่) และ ค (ค.ควาย) ตามลำดับ เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องแรกของโลกจึงแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2435 โดยแป้นพิมพ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นแป้นพิมพ์ 7 แถว แถวละ 12 ตัว ไม่มีปุ่มยกแคร่ หรือปุ่ม Shift เนื่องจากเป็นแป้นพิมพ์ชนิดแคร่ตาย (แคร่ไม่เลื่อน) และแป้นพิมพ์ดังกล่าวไม่สามารถใช้วิธีพิมพ์สัมผัส (Touch Typing) ได้
ต่อมาในปีพ.ศ. 2440 น้องชายของ Edwin คือ George Bradley McFarland หรือ พระอาจวิทยาคม ได้เปิดกิจการการค้าเป็นของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า “ห้างสมิทพรีเมียร์” บริเวณมุมถนนระหว่างถนนวังบูรพากับถนนเจริญกรุง เพื่อจำหน่ายเครื่องพิมพ์ดีด และสินค้านานาชนิด ภายหลังพระอาจวิทยาคมได้ขายกรรมสิทธิ์เครื่องพิมพ์ดีดแก่บริษัท Remington และในปีพ.ศ. 2458 บริษัทแห่งนี้ก็ประกาศยุติการผลิตเครื่องพิมพ์ดีดแบบเก่า และหันไปผลิตเครื่องพิมพ์ดีดแบบที่เลื่อนและยกแคร่ได้ (Sliding, Shifting Carriage) แทน ซึ่งเครื่องพิมพ์ดีดแบบดังกล่าวกำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น แทนที่เครื่องพิมพ์ดีดแบบเก่า
โฆษณาเครื่องพิมพ์ดีดของห้างสมิทพรีเมียร์
เครื่องพิมพ์ดีดแบบใหม่ที่เลื่อนและยกแคร่ได้นี้ ลดจำนวนแถวแป้นพิมพ์จาก 7 แถว เหลือเพียง 4 แถว และยังสามารถพกพาได้ในรูปแบบกระเป๋า ถือเป็นจุดกำเนิดของแป้นพิมพ์ภาษาไทย ในรูปแบบแป้นพิมพ์ไทยเกษมณี
ประวัติไทยเกษมณี
เมื่อเทคโนโลยีต่างชาติก้าวไกลไปข้างหน้า เทคโนโลยีในประเทศก็ต้องก้าวตามให้ทัน พระอาจวิทยาคมได้ร่วมกับพนักงานของตน คือ นายสวัสดิ์ มากประยูร ช่างประดิษฐ์ก้านอักษร และ นายสุวรรณประเสริฐ เกษมณี หรือนายกิมเฮง ผู้ซึ่งรับหน้าที่ออกแบบและจัดวางตำแหน่งแป้นอักขระ โดยพิจารณาจากสถิติการใช้ตัวอักษร รวบรวมจากหนังสือถึง 38 เล่ม และคำศัพท์ภาษาไทยอีก 167,456 คำ ใช้เวลาประดิษฐ์ทั้งสิ้น 7 ปี จึงแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2474
คีย์บอร์ดภาษาไทยข้างต้นที่ประดิษฐ์ได้ตั้งชื่อตามนามสกุลของผู้ออกแบบ โดยใช้ชื่อว่า แป้นพิมพ์เกษมณี
ผังแป้นพิมพ์เกษมณี
แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี เป็นแป้นพิมพ์ที่ทุกคนคงคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี มีแป้นเหย้า (Home Keys) อยู่ที่ ซ้าย ฟ ห ก ด และขวา –่ า ส ว
แรกเริ่มเมื่อ แป้นพิมพ์เกษมณี ถูกนำมาใช้บนเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย ก็ยังคงไม่มีแป้นพยัญชนะ ฃ (ฃ.ฃวด) และ ฅ (ฅ.ฅน) เช่นเดียวกันกับแป้นพิมพ์รูปแบบก่อนหน้า แต่แป้นพยัญชนะทั้งสองได้ถูกเพิ่มเข้ามาภายหลังสำหรับแป้นพิมพ์ที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ (โดยจะอยู่ทางขวาของแป้น ล. ลิง ในแป้นพิมพ์ประเภท ANSI หรืออยู่ทางซ้ายของแป้น ผ. ผึ้ง ในแป้นพิมพ์ประเภท ISO - ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแป้นพิมพ์ประเภท ANSI และ ISO
คีย์บอร์ดไทยเกษมณี สามารถใช้วิธีพิมพ์สัมผัส (Touch Typing) ได้ ต่างจากแป้มพิมพ์รูปแบบก่อนหน้า โดยผู้ที่คิดค้นวิธีพิมพ์สัมผัสสำหรับ แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี จนเป็นที่แพร่หลายก็คือ พระอาจวิทยาคม นั่นเอง
ประวัติแป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติ
ในปี พ.ศ. 2509 นายสฤษดิ์ ปัตตะโชติ ข้าราชการชั้นเอกสังกัดกรมชลประทาน ได้วิจัยเกี่ยวกับ แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี โดยได้รับการสนับสนุนจาก นายอุดม อุดมผล ผู้ก่อตั้งบริษัทโอลิมเปียไทย และผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดอุดมวิทยา ซึ่งนายอุดมยังเป็นลูกค้าคนสำคัญของ “ห้างสมิทพรีเมียร์” อีกด้วย
ผลวิจัยของนายสฤษดิ์พบว่า ผู้ใช้ แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี จะใช้งานมือขวาหนักกว่ามือซ้าย
(ในอัตราส่วนร้อยละ 70:30 ตามลำดับ) และนิ้วก้อยข้างขวาจะถูกใช้งานอย่างหนัก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการกดปุ่มยกแคร่ หรือ ปุ่ม Shift) เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ นายสฤษดิ์จึงคิดค้น แป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติ ซึ่งตั้งชื่อตามนามสกุลของผู้ออกแบบและคิดค้น ขึ้นมาแทนที่ แป้นพิมพ์เกษมณี
ผังแป้นพิมพ์ปัตตะโชติ
คีย์บอร์ดไทยปัตตะโชติ มีแป้นเหย้า (Home Keys) อยู่ที่ ซ้าย –้ ท ง ก และขวา า น เ ไ และยังคงไม่มีแป้นพยัญชนะ ฃ (ฃ.ฃวด) และ ฅ (ฅ.ฅน) เช่นเดียวกันกับ แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี นอกจากนี้ นายสฤษดิ์ ปัตตะโชติ ยังได้คิดค้นวิธีพิมพ์สัมผัส (Touch Typing) สำหรับ แป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติ ไว้ด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้แป้นพิมพ์ได้เป็นอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี และไทยปัตตะโชติ แตกต่างกันอย่างไร ?
ข้อแตกต่างระหว่าง แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี และ แป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือรูปลักษณ์ของผังแป้นพิมพ์ทั้งสองรูปแบบที่จัดเรียงได้ไม่ใกล้เคียงกันเลยแม้แต่น้อย แต่ข้อแตกต่างอื่น ๆ ล่ะ คืออะไร ?
ในที่นี้จะขอแยกเป็นข้อได้เปรียบของแต่ละแป้นพิมพ์ ซึ่งจะกลายเป็นข้อเสียเปรียบของแป้นพิมพ์อีกรูปแบบหนึ่งไปโดยปริยาย
ข้อได้เปรียบของแป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติ
- สามารถพิมพ์ได้เร็วกว่า แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี ถึง 25.8%
- ทำให้นิ้วเกิดอาการล้าจากการพิมพ์ได้น้อยกว่า แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี
- สร้างสมดุลระหว่างมือซ้าย และมือขวา คือไม่ทำให้มือข้างใดใช้งานหนักจากการพิมพ์มากกว่าอีกข้างหนึ่งจนเกินไป ในอัตราส่วนร้อยละ 47:53 ตามลำดับ
- ไม่ต้องกดปุ่มยกแคร่ หรือ ปุ่ม Shift เมื่อต้องการจะพิมพ์ตัวเลขไทย
เปรียบเทียบ finger load ระหว่าง แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี และ แป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติ
ข้อได้เปรียบของ แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี
- แป้นพิมพ์มาตรฐานที่พบเห็นได้ทั่วไปล้วนเป็นแป้นพิมพ์ไทยเกษมณี ทำให้หาซื้อได้ง่าย
- เรียงตัวเลขไทยอย่างตรงไปตรงมา คือ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ อยู่ที่แถวบนสุด และ ๐ อยู่ที่ปุ่มซ้ายสุดของแถวถัดมา ต่างจาก แป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติ ที่เรียงตัวเลขไทยอย่างประหลาด คือ ๒ ๓ ๔ ๕ ๗ ๘ ๙ ๐ ๑ ๖
ทำไมแป้นพิมพ์ไทยเกษมณี ถึงได้รับความนิยมมากกว่า ?
ทั้ง ๆ ที่มีงานวิจัยรองรับว่า แป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติ นั้นมีข้อดีมากกว่า เช่น พิมพ์ได้เร็วกว่า และไม่ทำให้นิ้วมือล้าจากการพิมพ์เท่ากับการใช้ แป้นพิมพไทยเกษมณี แต่เพราะอะไร แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี ถึงได้รับความนิยมมากกว่า แป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติ ?
คำตอบหลักของคำถามนี้ก็คือ ความเคยชิน
แม้ว่า แป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติ จะถูกออกแบบมาดีเพียงใด และถูกคณะรัฐมนตรีกำหนดให้กลายเป็นแป้นพิมพ์มาตรฐานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะความเคยชินที่มีต่อ แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี ของผู้ใช้งานได้ แป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติ จึงหมดความนิยมลงไปโดยปริยาย หลงเหลือหลักฐานอยู่เพียงหากคุณตั้งค่าคีย์บอร์ด (Control Panel ในระบบปฏิบัติการ Windows หรือ System Preferences ในระบบปฏิบัติการ Mac OS) ระบบปฏิบัติการของคุณ จะอนุญาตให้คุณเลือกใช้แป้นพิมพ์ภาษาไทย ระหว่าง แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี (Thai Kedmanee Keyboard) และ แป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติ (Thai Pattachote Keyboard)
ดังนั้น เป็นแป้นพิมพ์ภาษาไทยแบบมาตรฐาน หรือ Thai Standard Keyboard Layout ในปัจจุบันจึงเป็น แป้นพิมพ์ไทยเกษมณี ไม่ใช่ แป้นพิมพ์ไทยปัตตะโชติ
รูปแบบของแป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษ
รู้จักกับแป้นพิมพ์ภาษาไทยกันไปแล้ว ต่อไปไปดูคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษบ้างดีกว่า
แรกเริ่มเดิมทีคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษนั้นเรียงตัวอักษร A ถึง Z ตามที่ควรจะเป็นนั่นแหละ แต่เมื่อใช้งานในการพิมพ์จริง ๆ บนเครื่องพิมพ์ดีด เครื่องพิมพ์มักจะเกิดอาการก้านของคีย์บอร์ดขัดกัน ทำให้เป็นอุปสรรคของการพิมพ์ คีย์บอร์ด QWERTY ที่เราคุ้นเคยกัน จึงได้ถูกประดิษฐ์ขึ้น
แป้นพิมพ์ QWERTY
ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ แป้นพิมพ์ QWERTY ถูกออกแบบมาตั้งแต่ในยุคของเครื่องพิมพ์ดีด มาจนถึงคีย์บอร์ดในคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน และซึ่ง คีย์บอร์ด QWERTY ถูกใช้เป็นคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษมาตรฐาน
ชื่อของแป้นพิมพ์ QWERTY มาจากอักษร 6 ตัวแรกที่อยู่บนแป้มพิมพ์ ที่อยู่ในตำแหน่งซ้ายสุดของแป้นพิมพ์ โดยไม่นับรวมแถวบนสุดที่เป็นแถวของอักขระสัญลักษณ์และตัวเลขอารบิก ซึ่งตัวอักษรภาษาอังกฤษเหล่านั้นคือ Q W E R T Y (ตัวถัดไปคือ U)
ผังแป้นพิมพ์ QWERTY บนแป้นพิมพ์ประเภท ANSI
แป้นพิมพ์ QWERTY เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2416 โดย Christopher Latham Sholes ที่รวบรวมคำศัพท์จากพจนานุกรมในยุคนั้นมาวิเคราะห์ เพื่อจัดเรียงเป็นคีย์บอร์ดรูปแบบใหม่ ซึ่งแยกตัวอักษรที่มักต้องพิมพ์ต่อเนื่องกันให้อยู่ห่างกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาก้านของแป้นพิมพ์ขัดกัน นอกจากนี้ยังนำตัวอักษรที่ต้องพิมพ์บ่อย ๆ มาไว้ในตำแหน่งที่พิมพ์ได้ง่ายอีกด้วย
แป้นพิมพ์ QWERTY ถูกนำไปใช้ในเครื่องพิมพ์ดีดรุ่น “Remington No. 2” ในปีพ.ศ. 2421 ซึ่งเป็นรุ่นที่ประสบความสำเร็จเป้นอย่างมาก ทำให้ แป้นพิมพ์ QWERTY กลายเป็นแป้นพิมพ์ที่เป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจาก แป้นพิมพ์ QWERTY ยังมีแป้นพิมพ์ภาษาอังกฤษที่น่าสนใจคือ
คีย์บอร์ด DVORAK
ในปีพ.ศ. 2479 August Dvorak และ William Dealey ได้คิดค้นคีย์บอร์ดภาษาอังกฤษรูปแบบใหม่ขึ้น โดยตั้งชื่อตามนามสกุลของ August คือ คีย์บอร์ด Dvorak
คีย์บอร์ด Dvorak สามารถช่วยให้ผู้ใช้งานพิมพ์ได้เร็วขึ้น ลดการเคลื่อนไหวของมือเวลาพิมพ์ จึงช่วยลดการอาการล้าที่เกิดขึ้นบริเวณนิ้วมือจากการพิมพ์ได้ นอกจากนี้ยังถูกหลัก ergonomic มากกว่า คีย์บอร์ด QWERTY อีกด้วย
ผังคีย์บอร์ด Dvorak บนคีย์บอร์ดประเภท ANSI
ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง คีย์บอร์ด QWERTY และ คีย์บอร์ด Dvorak จึงมีความคล้ายคลึงกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่าง คีย์บอร์ดไทยเกษมณี และ คีย์บอร์ดไทยปัตตะโชติ
เป็นอย่างไรบ้างครับกับเนื้อหาความรู้เรื่องเลย์เอาต์คีย์บอร์ดจาก Keychron Thailand บทความนี้ หากคุณมีคำถามที่สงสัยหรือเรื่องราวเกี่ยวกับคีย์บอร์ดที่อยากแบ่งปันก็สามารถคลิกไอคอนข้อความที่มุมขวาล่างเพื่อเข้ามาสนทนากับเราได้ทันที และนอกจากนี้หากคุณกำลังมองหาคีย์บอร์ดสักเครื่องที่ดีไซน์เนี้ยบเรียบหรู ช่วยให้พิมพ์ไวขึ้น โดยไม่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดวางคีย์บอร์ดที่คุ้นเคย คุณก็สามารถเข้ามาอ่านรีวิวคีย์ครอนที่ลิงก์นี้ก่อนได้ครับ เผื่อว่าเราจะกลายเป็นคู่หูคนใหม่ให้คุณได้
บทความอื่น ๆ เกี่ยวกับคีย์บอร์ดที่น่าสนใจ
ประเภทของคีย์บอร์ด
Mechanical keyboard, Semi-Mechanical Keyboard, Rubber dome Keyboard, Membrane Keyboard คีย์บอร์ดมีกี่ประเภท คีย์บอร์ดเมคานิคอลต่างกับคีย์บอร์ดทั่วไปอย่างไร บทความนี้จะมาไขข้อข้องใจอย่างหมดเปลือก
ประวัติและพัฒนาการของคีย์บอร์ด
ดูสินค้าพร้อมส่งจาก Keychron Thailand
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
- สำนักงานราชบัณฑิตยสภา[1]
- มิวเซียมสยาม[2]
- พิพิธภัณฑ์อัสสัมชัญ[3],[4]
- ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ[5],[6]
- บทความของ Somboon2547 บนเว็บไซต์ OKnation[7]
- แบบฝึกหัดพิมพ์สัมผัสอย่างย่อสำหรับแป้นพิมพ์ปัตตะโชติ โดย เศรษฐวัฒน์ อุทธา[8]
- SALMON LAB[9]
- วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี[10] (ภาษาไทย)
- Wikipedia The Free Encyclopedia[11] (ภาษาอังกฤษ)